ภาพรวมของอุตสาหกรรมสุขภาพ ในกลุ่มประเทศอาเซียน จากรายงานวิเคราะห์อุตสาหกรรมการใช้งาน Artificial Intelligence (AI) ในอุตสาหกรรมสุขภาพ ในกลุ่มประเทศอาเซียน โดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA)
ประเทศไทย มุ่งสู่ความเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของโลก
● ประเทศไทยมีจำนวนโรงพยาบาลทั้งหมด 1,308 แห่ง (เป็นของเอกชน 316 แห่ง) และมีศูนย์บริการสาธารณสุขและสถานีอนามัยอีกกว่า 10,000 แห่ง สิทธิบัตรทอง (หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) สิทธิประกันสังคม และสิทธิข้าราชการ ทำให้มีประชากรกว่า 99.8 % อยู่ในระบบประกันสุขภาพไทย
● โรงพยาบาลเอกชนมีระดับการลงทุนที่สูงมากในอดีต (ก่อนวิกฤต พ.ศ. 2540) จนเกิดปัญหา “อุปทานส่วนเกิน (oversupply)” จนทำให้ต้องลดการลงทุนลง โดยการลงทุนเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 เป็นต้นมา ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบของการควบรวมกิจการและการพัฒนาประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน
● การขยายตัวของเขตเมืองและการเพิ่มจำนวนขึ้นของชนชั้นกลางจะเป็นโอกาสสำหรับโรงพยาบาลและสถานพยาบาลเอกชน
● การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุทำให้ประเทศไทยจะมีจำนวนผู้เข้ารับบริการทางการแพทย์เพิ่มขึ้น และยังก่อให้เกิดความต้องการในการรักษาขั้นสูงเพิ่มมากขึ้นด้วย
● โรงพยาบาลและสถานพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชน ต่างต้องประสบกับความท้าทายในการรับมือกับจำนวนผู้ป่วยในระบบประกันสุขภาพ โดยปัญหาหลักคือด้านงบประมาณและบุคลากร
● การเปิดรับผู้ป่วยจาก AEC จะช่วยชดเชยการลดลงของจำนวนผู้ป่วยจากตะวันออกกลางได้ส่วนหนึ่ง (จำนวนผู้ป่วยต่างชาติใน พ.ศ. 2558 อยู่ที่ 2.81 ล้านคน)
ประเทศมาเลเซีย ผู้นำด้านการผลิตยาและเวชภัณฑ์ของอาเซียน
● ประเทศมาเลเซียมี มีจำนวนโรงพยาบาลทั้งหมด 355 แห่ง (เป็นของเอกชน 214 แห่ง) และศูนย์บริการสาธารณสุขของรัฐ 3,000 แห่ง โดยระบบบริการสุขภาพของมาเลเซียได้รับการอุดหนุนในอัตราที่สูงจากรัฐบาล (เฉพาะสถานพยาบาลของรัฐ)
● รัฐบาลมาเลเซียพยายามปฏิรูประบบสาธารณสุขอย่างต่อเนื่องในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา โดยความพยายามล่าสุดคือ การปฏิรูประบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ภายใต้แผน “1Care for 1Malaysia” ซึ่งคล้ายกับระบบ National Health Service (NHS) ของอังกฤษ แต่นโยบายนี้ยังคงไม่ได้มีผลบังคับใช้เนื่องจากต้องเผชิญกับกระแสต้านจากหลายฝ่าย
● ค่าเงินริงกิตที่ลดลงจะทำให้มาเลเซียอยู่ในตำแหน่งที่ดีขึ้นในการท้าทายตำแหน่งผู้นำด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในภูมิภาค โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่มาจากอินโดนีเซีย ตามด้วย บังกลาเทศ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น อังกฤษ และกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง
● โครงการ Entry Point Projects (EPPs) ของมาเลเซีย มีเป้าหมายที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตยาและเวชภัณฑ์ สร้างศูนย์การศึกษาวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพ และศูนย์ดูแลผู้สูงวัย เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมสุขภาพของประเทศต่อไป
● การที่มาเลเซียกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุส่งผลให้มีจำนวนผู้เข้ารับบริการทางการแพทย์เพิ่มขึ้น และยังก่อให้เกิดความต้องการในการรักษาขั้นสูงเพิ่มมากขึ้นด้วย นอกจากนี้ระบบบริการสุขภาพที่ได้รับการอุดหนุนจากรัฐก็เริ่มประสบปัญหาต้นทุนที่กำลังเพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย
ประเทศอินโดนีเซีย ปัญหาเชิงโครงสร้างที่รอการแก้ไข
● ประเทศอินโดนีเซียมีจำนวนโรงพยาบาล 2,414 แห่ง (เป็นของเอกชน 1,553 แห่ง) และศูนย์บริการสาธารณสุขของรัฐกว่า 8,700 แห่ง ซึ่งทำให้สถานพยาบาลของรัฐมีสัดส่วนเป็นประมาณ 87% โดยมีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ภายใต้นโยบาย Jaminan Kesehatan Nasional (JKN)
● เป้าหมายของ JKN คือการทำให้ประชากรทุกคนอยู่ในระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าภายในปี พ.ศ. 2562 (จาก 63% ในปี พ.ศ. 2558) ซึ่งส่งผลให้รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้นอย่างมาก
● การบริหารจัดการด้านสาธารณสุขของอินโดนีเซียเป็นแบบกระจายอำนาจ โดยกระทรวงสาธารณสุขมีบทบาทที่ค่อนข้างจำกัดเมื่อเทียบกับประเทศอาเซียนอื่นๆ ในประเทศอินโดนีเซีย หน่วยงานท้องถิ่นมีส่วนรับผิดชอบในพื้นที่ของตน ซึ่งโครงสร้างนี้ส่งผลกระทบถึงการนำนโยบายต่าง ๆ ไปปฏิบัติ รัฐบาลจึงต้องทำการแก้ไขกฏหมายบางฉบับในปี พ.ศ. 2559 เพื่อสร้างมาตรฐานการบริการของโรงพยาบาลที่อยู่ในสังกัดต่าง ๆ ให้เท่าเทียมกัน
● อินโดนีเซียยังคงประสบปัญหาการขาดแคลนสถานพยาบาล อุปกรณ์และบุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ชนบท อีกทั้งยังเผชิญปัญหาด้านการทุจริตเพิ่มขึ้นจาก JKN ด้วย
ประเทศฟิลิปปินส์ แหล่งผลิตบุคลากรทางการแพทย์ของโลก
● ประเทศฟิลิปปินส์มีจำนวนโรงพยาบาล 1,823 แห่ง (เป็นของเอกชน 1,095 แห่ง) และศูนย์บริการสาธารณสุขชุมชนกว่า 20,000 แห่ง โดยมีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ภายใต้ชื่อ PhilHealth ซึ่งครอบคลุมประชากรกว่า 82% ของประเทศ
● การขยายตัวของเขตเมือง และการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรและรายได้ ทำให้อุตสาหกรรมสุขภาพขยายตัวในอัตราที่รวดเร็ว ผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่เริ่มเพิ่มการลงทุน และควบรวมกิจการรายเล็กมากขึ้น
● โรงพยาบาลของรัฐยังคงประสบปัญหาทั้งด้านเงินทุน โครงสร้างพื้นฐาน เครื่องมือและเทคโนโลยีทางการแพทย์ ความปลอดภัยของผู้ป่วย และการบริการ ซึ่งส่งผลให้รัฐบาลดำเนินนโยบายสร้างความร่วมมือระหว่างโรงพยาบาลรัฐและเอกชน ภายใต้โครงการ Public-Private Partnership (PPPs) เพื่อให้เกิดการถ่ายโอนเทคโนโลยี การฝึกอบรม และเงินทุน
● ฟิลิปปินส์เป็นหนึ่งในประเทศที่ผลิตบุคลากรทางการแพทย์จำนวนมาก โดยแต่ละปีนั้นสามารถผลิตหมอได้ 2,600 คน พยาบาล 67,000 คน นางผดุงครรภ์ 3,900 คน และนักเทคนิคการแพทย์ 1,400 คน โดยบุคลากรเหล่านี้ประจำอยู่ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ในขณะที่ประเทศฟิลิปปินส์เองกลับประสบปัญหาด้านการขาดแคลนบุคลากรในระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล
ประเทศเวียดนาม การปฏิรูประบบสาธารณสุขครั้งใหญ่
● ประเทศเวียดนามมีจำนวนโรงพยาบาล 1,214 แห่ง (เป็นของเอกชน 157 แห่ง) และศูนย์บริการสาธารณสุขชุมชนกว่า 12,000 แห่ง โดยมีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งครอบคลุมประชากรกว่า 70% ของประเทศ
● ปัญหาหลักที่เวียดนามต้องประสบคือการไม่มีสถานพยาบาลเพียงพอที่จะรองรับผู้ป่วย โดยเฉพาะโรงพยาบาลในเมืองใหญ่ ๆ และคุณภาพของการรักษาพยาบาล โดยโรงพยาบาลหลายแห่งยังคงขาดแคลนเทคโนโลยีที่จำเป็น และบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความสามารถ
● รัฐบาลเวียดนามพยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยแผนแม่บทที่ออกแบบมาเพื่อปรับปรุงระบบสาธาณสุขทั้งหมดภายในปีพ.ศ. 2563 ให้สามารถรองรับผู้ป่วยได้อย่างทั่วถึง และยังเร่งกระตุ้นให้ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าครอบคลุมประชากรเกิน 80% ด้วย
● รัฐบาลยังได้จัดสรรงบประมาณในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของโรงพยาบาลรัฐเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและยังได้ส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติผ่านการมอบสิทธิประโยชน์ด้านภาษี และการผ่อนปรนกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการนำบุคลากรทางการแพทย์จากต่างประเทศเข้ามาปฏิบัติงานในเวียดนาม
ประเทศสิงคโปร์ ประเทศที่ระบบสาธารณสุขก้าวหน้าที่สุดในอาเซียน
● ประเทศสิงคโปร์มีจำนวนโรงพยาบาล 24 แห่ง (เป็นของเอกชน 14 แห่ง) โดยมีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งครอบคลุมประชากรทั้งประเทศ โดยรัฐบาลจะอุดหนุนค่ารักษาพยาบาลกับโรงพยาบาลของรัฐมากที่สุด 80% และยังมีโครงการประกันสังคมให้ประชาชนดังนี้
– ระบบบัญชีออมสุขภาพ (Medisave) ซึ่งเป็นภาคบังคับที่ประชาชนใช้เงินออมจากบัญชีของตนเอง
– ระบบประกันสุขภาพสมัครใจ (Medishield) เป็นระบบที่ครอบคลุมโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง โดยสามารถหักเงินจากบัญชีออมสุขภาพมาซื้อประกันได้
– ระบบสังคมสงเคราะห์ (Medifund) เป็นระบบบริการของรัฐบาลในกรณีที่ประชาชนไม่มีเงินเพียงพอ
● สิงคโปร์ได้พัฒนาอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นหนึ่งในประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งกำลังซื้อที่สูงขึ้นของประชากรทำให้เกิดโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน และโรคหัวใจและหลอดเลือด เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้รัฐบาลต้องลงทุนในเทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหานี้ ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนด้วย โดยรัฐบาลได้วางแผนแม่บท “Healthy Living Master Plan” ในปี พ.ศ. 2555 ซึ่งมีสาระสำคัญ 3 ประการคือ
– เพิ่มจำนวนและการเข้าถึงศูนย์ความรู้ด้านสาธารณสุข
– พัฒนาสถาบันครอบครัวและชุมชน เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชากร
– เพิ่มการเข้าถึงบริการสาธารณสุขและลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพให้กับประชากร
● สิงคโปร์เคยเป็นผู้นำของอาเซียนในด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ แต่ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้สูญเสียตำแหน่งดังกล่าวให้กับไทย
ฮ่องกง หนึ่งในระบบสาธารณสุขที่ดีที่สุดในโลก
● ฮ่องกงมีจำนวนโรงพยาบาล 53 แห่ง (เป็นของเอกชน 11 แห่ง) และสถานบริบาลผู้สูงอายุ 63 แห่ง โดยมีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งครอบคลุมประชากรทั้งประเทศ โดยผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลจากโรงพยาบาลของรัฐได้โดยมีค่าใช้จ่ายน้อยมาก ส่วนผู้มีรายได้สูงมักเลือกใช้สถานพยาบาลของเอกชนแทน
● ทำให้ฮ่องกงมีสัดส่วนรายจ่ายด้านสาธารณสุขของรัฐต่อ GDP ต่ำที่สุดประเทศหนึ่งในบรรดาประเทศที่พัฒนาแล้ว และยิ่งไปกว่านั้นฮ่องกงยังประสบความสำเร็จในการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา ทั้งในโรงพยาบาลและที่บ้านของผู้ป่วย
● ฮ่องกงกำลังเผชิญกับความท้าทายที่เกิดจากสังคมผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น การที่ฮ่องกงไม่ได้มีอำนาจเด็ดขาดด้านการรับผู้อพยพ ทำให้ต้องรับแรงกดดันเพิ่มขึ้นจากการเพิ่มจำนวนประชากรจากจีนแผ่นดินใหญ่ เช่นเดียวกับสิงคโปร์ กำลังซื้อที่สูงขึ้นของประชากรฮ่องกงทำให้เกิดโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน และโรคหัวใจและหลอดเลือด เพิ่มมากขึ้น
● ฮ่องกงมีความพยายามที่นำโครงการ Health Protection Program (HPP) ซึ่งส่งเสริมการทำประกันสุขภาพของประชาชน เพื่อให้ประชาชนโดยเฉพาะชนชั้นกลางสามารถใช้บริการสาธารณสุขจากโรงพยาบาลและสถานพยาบาลเอกชนได้ เพื่อช่วยลดภาระของภาครัฐ
ที่มา : รายงานวิเคราะห์อุตสาหกรรมการใช้งาน Artificial Intelligence (AI) ในอุตสาหกรรมสุขภาพ ในกลุ่มประเทศอาเซียน โดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA)
Leave a Reply