จาก CRM ไปสู่ CR & RM
หลายบริษัทมักจะเข้าใจผิดว่าการที่บริษัทสามารถติดต่อสื่อสารและรักษาสถานการณ์ติดต่อกับลูกค้าได้ ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการส่งอีเมล์ ส่งข้อมูล บันทึกข้อมูลการสั่งซื้อของลูกค้า แล้วถือว่าประสบความสำเร็จในการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า
ความจริงแล้วเหล่านี้ไม่ใช่ความสำเร็จในการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าจริง เพราะว่าสิ่งที่บริษัทคิดว่านั่นคือสิ่งที่ลูกค้าต้องการ แต่ความเป็นจริงแล้ว ลูกค้าอาจจะไม่ต้องการสิ่งเหล่านั้นก็ได้ CRM ประกอบด้วย C: Customer, R: Relationship และ M: Management แต่บริษัทส่วนใหญ่มักจะใช้เพียง CM หรือ Customer Management เท่านั้น บริษัทสามารถจัดแบ่งกลุ่มลูกค้าตามประชากรศาสตร์ ตามข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้อง ตามข้อมูลการสั่งซื้อ ตามข้อมูลการติดต่อ หรืออื่นๆ แล้วก็ส่งโปรโมชั่น หรือคูปองส่วนลดตามด้วยคะแนนสะสม ด้วยความหวังว่าบริษัทจะรักษาฐานลูกค้าเดิมนี้ไว้ได้ เหล่านี้เป็นเพียงกิจกรรมในการบริหารลูกค้า
แน่นอนว่ากิจกรรมในการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้ายังเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่เราจะต้องให้ความสำคัญกับการรักษาไว้ซึ่งลูกค้า (Customer Retention: CR) ให้มากขึ้น บางคนอาจจะบอกว่าก็กิจกรรมเหล่านี้แหละที่ช่วยรักษาลูกค้าไว้ คำตอบคือใช่ เพียงแต่ว่ามันเป็นเพียงแค่โปรแกรมรักษาลูกค้า (Retention Program) เท่านั้น สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือเราจะต้องมีกระบวนการรักษาลูกค้า (Retention Process) มากกว่า เพื่อที่จะได้ลูกค้าที่จงรักภักดีและกลับมาซื้อสินค้าซ้ำอีกครั้ง
สิ่งที่หลายบริษัทเข้าใจใน CRM วันนี้เป็นเพียงแค่การดำเนินกิจกรรม CM เท่านั้น โดยบริษัทให้ความสำคัญกับการแปลงข้อมูล (Date) ให้เป็นความรู้ (Information) เท่านั้น หัวใจสำคัญน่าจะอยู่ที่การสร้างสัมพันธ์กับลูกค้าเชิงลึกแบบส่วนตัว (Personal Relationship) มากกว่าเพียงแค่ใช้ข้อมูลแล้วจัดกิจกรรมที่คิดว่าลูกค้าต้องการ ความสัมพันธ์แบบส่วนตัวเท่านั้นที่บริษัทจะได้ข้อมูลของลูกค้าเชิงลึกจริงๆ หนึ่งในเป้าหมายหลักของ CRM ก็คือการสร้างความพึงพอใจของลูกค้าและสร้างความรู้สึกทางจิตวิทยาด้วยความจงรักภักดีของลูกค้า ซึ่งบริษัทพยายามที่จะสร้างสิ่งเหล่านี้มาโดยตลอด
อย่างไรก็ตาม เราทราบดีอยู่ว่า…
ความพึงพอใจของลูกค้าไม่ได้หมายความว่าหรือรับประกันว่าลูกค้าจะจงรักภักดี และ ความพึงพอใจของลูกค้าไม่ได้หมายความว่าหรือรับประกันว่าจะรักษาลูกค้าไว้ได้ หากเป้าหมายสูงสุดของบริษัทคือการรักษาลูกค้าไว้ เราก็ต้องมีพิจารณาการบริหารการรักษาลูกค้าไว้ (Retention Management: RM) คุณสามารถเริ่มกระบวนการรักษาลูกค้าด้วยการทำความเข้าใจถึงอัตราลูกค้ายกเลิกการสั่งซื้อและลูกค้าซื้อซ้ำ และทำไมลูกค้าเหล่านั้นถึงยกเลิกการสั่งซื้อหรือซื้อซ้ำ เป้าหมายของคุณคือทำอย่างไรให้ลูกค้าซื้อซ้ำ ซึ่งมันจะต้องเกี่ยวข้องกับพนักงานทุกคนที่ติดต่อกับลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นพนังกานขาย พนักงานบริการ พนักงานบัญชี ผู้บริหาร คุณจะต้องเข้าใจว่าความสำเร็จของการรักษาลูกค้าไว้ก็คืออัตราการซื้อซ้ำและ ยอดขายนั่นเอง
ยิ่งลูกค้าอยู่กับบริษัทนานเท่าไรและซื้อสินค้ากับบริษัทอย่างต่อเนื่อง ความสัมพันธ์กับลูกค้าก็ยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น ความคาดหวังจากทั้งสองฝ่ายก็จะมีมากขึ้นด้วย ลูกค้าจะยิ่งมีความคาดหวังที่สูงขึ้นมากกว่าปกติ ดังนั้น คุณก็จะต้องขยันและสร้างความสัมพันธ์แบบส่วนตัวมากขึ้นเท่านั้น เหมือนกับว่า เมือไรที่คุณได้ออกเดทและแต่งงานกับคนรัก นั่นแหละคุณคือผู้ชนะ ความจริงแล้วความสัมพันธ์เป็นสิ่งที่สลับซับซ้อนและจะต้องเป็นส่วนบุคคล เพราะว่ามันอยู่ที่ความไว้วางใจ ความเห็นอกเห็นใจ ความไว้วางใจและความเชื่อถือ หากทั้งสองฝ่ายมีความเข้าใจกันอย่างแท้จริง ปัญหาหรือความเข้าใจผิดสามารถที่จะสะสางได้อย่างง่ายดาย คุณอาจจะต้องถามตัวเองว่า บริษัทของคุณกำลังทำอะไร เพื่อที่จะสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าที่แข็งแกร่งและยั่งยืน
Leave a Reply